วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ลงโทษโดยการตัดค่าจ้าง ทำได้หรือ ?

                        มีข้อถกเถียงกันว่า   กรณีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า  “กรณีพนักงานกระทำผิดบริษัทฯ สามารถลงโทษโดยตัดค่าจ้างได้นะ”   สามารถใช้บังคับได้หรือไม่  จะขัดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา ๗๖ ที่ระบุว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา.........”  หรือไม่   ลองพิจารณาฎีกานี้เป็นแนวทางนะครับ

ฎีกาที่  ๑๔๐๓๖/๒๕๕๕
                        คำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดค่าจ้างร้อยละ ๑๐ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงแม้จะปรากฏว่ามีประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๓๑ จะบัญญัติห้ามนายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างก็ตาม  แต่การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ไม่เชื่อฟังและแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของบริษัท ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่การงาน ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานด้วยการตัดค่าจ้างของเดือน กันยายน ๒๕๔๘ ในอัตราร้อยละ ๑๐ นั้น การลงโทษของจำเลยมิใช่เป็นการหักค่าจ้างโจทก์แต่เป็นกรณีลงโทษตามวินัยการทำงานซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการงาน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำสั่งตัดค่าจ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังนั้นคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดค่าจ้างร้อยละ ๑๐ ตามเอกสารหมาย ล.๑๗ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย   

หมายเหตุ  ฎีกานี้วินิจฉัยว่า ข้อบังคับเขียนว่าลงโทษโดยตัดค่าจ้างเป็นกรณีการลงโทษทางวินัย  ไม่ใช่เป็นการหักค่าจ้าง  และนายจ้างมีเหตุในการลงโทษดังกล่าวและเป็นการลงโทษพอสมควรแก่เหตุ จึงสามารถลงโทษโดยการตัดค่าจ้างได้