วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

มาทำงานสาย เพราะรถเสีย อ้างกับนายจ้างได้ใหม

ฎีกาที่  775/2553
                        ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยออกหนังสือเตือนนายอนุชาครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2547 กรณีขาดงาน 1 วันในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2547 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2548 กรณีมาทำงานสาย แต่นาย อ. ขาดงานครึ่งวันตอนเช้าของวันที่ 8 มีนาคม 2548 เนื่องจากรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะไปทำงานเสียเมื่อวันที่ 7.10 นาฬิกา ที่ใกล้ถนนเพชรเกษม 77 แก้ไขเองจนถึงเวลา 8.15 นาฬิกาก็ยังแก้ไขไม่ได้จำต้องนำไปซ่อมโดยเข็นรถจักรยานยนต์ไปซ่อมที่ร้านซ่อมบริเวณถนนเพชรเกษมปากทางถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในระหว่างรอการซ่อมรถนาย อ.ก็ได้โทรศัพท์ถึงบิดาซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์เช่นเดียวกันให้แจ้งผู้จัดการฝ่ายบุคคลทราบสาเหตุดังกล่าวแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้ยังไม่ถือได้ว่านาย อ.กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฐานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน กรณีไม่ต้องด้วยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ.26(8) ซึ่งระบุว่า ถือว่าลูกจ้างกระทำความผิดวินัยร้ายแรง ถ้าลูกจ้างกระทำผิดวินัยบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วพนักงานได้กระทำความผิดนัยซ้ำอีกในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อันจะเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) โจทก์เลิกจ้างนาย อ.จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ที่จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นาย อ.ชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลย  

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

ขับรถหวาดเสียว (พนง.ขับรถ) เลิกจ้าง ได้ใหมละ!!!

ฎีกาที่  ๒๙๖๒/๒๕๕๕
                        พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง (ปัจจุบัน ระบุในมาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย (***แก้ไข พ.ศ.2551***)) กำหนดว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยมิฉะนั้นนายจ้างจะยกขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ เห็นได้ว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างโดยทำเป็นหนังสือและต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างจำกัดเฉพาะการอ้างหรือข้อต่อสู้ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๙ เท่านั้น ดังนั้นแม้นายจ้างจะไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกสัญญาจ้างไว้นายจ้างก็ยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างหรือต่อสู้ในคำให้การที่จะไม่จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้

                        การพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ  จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานโดยไม่ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมในการขับรถ โดยขับรถด้วยความเร็วน่าหวาดเสียว ไม่ควบคุมอารมณ์ในขณะขับรถ ละทิ้งหน้าที่ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เห็นว่าโจทก์เป็นพนักงานขับรถซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่สำคัญเพราะเป็นหน้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตร่างการและทรัพย์สินของผู้อื่นและผู้โดยสาร จึงต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง ทั้งต้องให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อให้จำเลยสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดพนักงานขับรถได้ ก่อนโจทก์จะละทิ้งงาน จำเลยเคยตักเตือนโจทก์เรื่องการทำงาน โจทก์ต้องปรับปรุงพฤติกรรมในการทำงานแต่โจทก์กับเพิกเฉย ทั้งยังไม่ให้ความร่วมมือและละทิ้งงาน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการของจำเลยและอาจก่อให้เกิดปัญหาในความไม่ปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ จำเลยจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ค่าเช่าบ้าน เบี้ยกันดาร กับค่าจ้าง

ฎีกาที่  ๒๖๖๐/๒๕๕๖

                        เงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าบ้านจำเลยที่ ๑ มีระเบียบการจ่ายชัดเจนว่าประสงค์จะช่วยเหลือโจทก์ในด้านเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับส่วนตัวและค่าเช่าที่พักเมื่อโจทก์ต้องไปทำงานต่างจังหวัด  หากโจทก์กลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยที่ ๑ จะไม่จ่ายเงินทั้งสองประเภทนี้ให้แก่โจทก์  แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ จ่ายเงินทั้งสองประเภทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นสวัสดิการเท่านั้น  ไม่ได้จ่ายให้แก่โจทก์ด้วยวัตถุประสงค์เป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ  เงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าบ้านจึงไม่เป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕  ที่ศาลแรงงานกลางไม่นำเงินทั้งสองประเภทมารวมเป็นคำนวณค่าชดเชยค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม  และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีชอบแล้ว