วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รับจ๊อปนอกมาทำงาน ไม่ได้นะ !!!!!!!!!!


รับจ๊อปนอกมาทำงาน  ไม่ได้นะ !!!!!!!!!!

เมื่อมาทำงานเป็นลูกจ้าง แม้ตัวเองจะบ่น...เดือนนี้ไม่พอใช้ เอางี้หางานนอกมาทำเพิ่มดีกว่า...ขอทำความเข้าใจนะ  ในการประกอบอาชีพนั้นทุกคนมีอิสระในการประกอบอาชีพ  แต่......เมื่อมาเป็นลูกจ้างแล้วคุณก็มีหน้าที่ในการปฎิบัติตามสัญญาจ้าง คือต้องทำงานให้เข้าเต็มที่ ไม่มีใครว่าหลอกถ้าคุณจะหารายได้พิเศษโดยใช้เวลานอกเหนือจากเวลาทำงานปกติของนายจ้าง  หรือประกอบอาชีพด้วยน้ำพักน้ำแรงของคุณเอง        แต่.....ถ้าคุณใช้เวลาทำงานของนายจ้างมาทำงานให้ตนเอง  หรือใช้อุปกรณ์ของนายจ้างมาทำงานให้ตนเอง ระวังจะตกงาน 

แนว     เบียดบังเวลาทำงาน หรือใช้ทรัพย์สินของนายจ้างทำงานนอก  ถือทุจริตต่อหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12820/2553         การที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้ากีฬาและใช้อุปกรณ์ เครื่องมือและพนักงานของจำเลยที่ 3 บางส่วนทำงานส่วนตัวของโจทก์ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 3 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 119 (4)

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ร่วมนัดหยุดงานไม่ได้ ถือละทิ้งหน้า

                          ใครทำงานโรงงานที่มีสหภาพแรงงาน  ในทุกปีสหภาพแรงงานมักจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่นเพิ่มค่าจ้าง ขอเงินโบนัส  เบี้ยขยันเพิ่ม หรืออื่นๆ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และถึงขั้นตอนที่สหภาพแรงงานแจ้งนัดหยุดงาน  คนที่อยู่ในโรงงานมักจะเข้าร่วมในการนัดหยุดงานดังกล่าว   ข้อพึงระวังสำหรับผู้ร่วมในการนัดหยุดงานนั้นจะต้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย  หรือในทางกฎหมายเรียกว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง  หากไม่ใช่ห้ามไปร่วมนัดหยุดงานด้วยโดยเด็ดขาดเนื่องจากคุณไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงไม่สามารถร่วมในการนัดหยุดงานกับสหภาพแรงงานได้ (เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในที่นี้คือสมาชิกของสหภาพแรงงานเท่านั้น)  หากมิเช่นนั้นในทางกฎหมายถือว่าคุณได้ละทิ้งหน้าที่  ซึ่งอาจเป็นเหตุให้คุณตกงานได้  โดยไม่ได้รับอะไรเลย    
ฎีกาที่  15918/2553
                        โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อ. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยเปิดทำงานตามปกติสำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2550 แต่โจทก์ทั้งสามไม่เข้าทำงานกลับไปร่วมชุมนุมกับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ที่หน้าโรงงาน โดยโจทก์ทั้งสามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วยเลย ย่อมถือได้ว่า โจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่สหภาพแรงงานฯ ระบุชื่อโจทก์ทั้งสามในบัญชีรายชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลับเข้าทำงานในวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ให้จำเลยรับลูกจ้างที่ปิดงานกลับเข้าทำงาน ซึ่งหมายถึงเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เท่านั้น อันเป็นคู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้กับจำเลย ย่อมไม่ทำให้โจทก์ทั้งสามที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้สิทธิตามคำสั่งดังกล่าวไปด้วย และไม่มีผลลบล้างให้โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด
                       เมื่อโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 และถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49