วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไม่ชอบข้อบังคับ อ้างได้หรือ...

                         กรณีที่พนักงานกระทำความผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  มักจะมีข้อโต้แย้งเรื่่อง บริษัทฯ ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือตนได้อุทธรณ์ร้องทุกข์ตามระเบียบการร้องทุกข์ของบริษัทฯ แล้วบริษัทฯ เพิกเฉย  และคิดว่าเมื่อตั้งคณะกรรมสอบสวนไม่ชอบ หรือบริษัทฯ ไม่ปฎิบัติตามระเบียบต้องทุกข์การลงโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยนั้น  ให้ดูฎีกานี้
ฎีกาที่  ๕๖๗๙/๒๕๕๕

                        โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่จำเลยที่ ๒ (บริษัทฯ) กล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นการปฏิบัติผิดขั้นตอนตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจว่าด้วยบรรษัทภิบาล จำเลยที่ ๒ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบความผิดของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยระเบียบ และเมื่อโจทก์ทำหนังสือร้องทุกข์ของความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ หมวด ๗ ว่าด้วยการร้องทุกข์ เห็นว่าในปัญหาว่าจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ต้องร่วมกันจ่ายค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ หรือไม่ และจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เลิกจ้างโจทก์มีเหตุผลสมควรหรือไม่ตามลำดับเป็นสำคัญ ส่วนจำเลยที่ ๒ จะปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือการร้องทุกข์หรือไม่ และไม่ว่าศาลแรงงานกลางจะนำระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ มาวินิจฉัยหรือไม่ก็ตามก็มิได้หมายความว่าโจทก์มิได้กระทำผิดอันจะมีผลกระทบถึงการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่นำเงินที่ได้จากการขายสินค้าเข้าเครื่องระบบแคชเชียร์ภายในวันนั้นทันทีหลังจากปิดการขายตามระเบียบ การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหายและทุจริตต่อหน้าที่  จึงมีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย


วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

๑.การกระทำผิดของลูกจ้างเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่พิจารณาจากอะไร ? ๒.แม้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่นายจ้างไม่เสียหาย ไม่เป็นกรณีร้ายแรง

ฎีกาที่  ๑๕๐๗๗/๒๕๕๕
                     การกระทำของลูกจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆประกอบกันหลายประการ อาทิ (๑) ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง (๒) ลักษณะและพฤติการณ์ การกระทำความผิดของลูกจ้าง (๓) ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำมีมากน้อยเพียงใด 
                        นางสาวระเบียบทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรที่ประกอบชิ้นงานในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปงานเกี่ยวกับร้อยสายไฟฟ้าเป็นต้น โดยยืนทำงานอยู่หน้าเครื่องจักร  นางสาวระเบียบนำอาหารมาวางขายไว้ใกล้กับเครื่องจักรที่นางสาวระเบียบทำงาน สินค้าที่เป็นชิ้นผู้ซื้อจะหยิบสินค้านั้นและมาจ่ายเงินแก่นางสาวระเบียบบางครั้งนางสาวระเบียบก็ทอนเงินแก่ลูกค้า บางครั้งหยิบอาหารใส่ถุงให้ลูกค้าด้วย ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการซื้อขายสินค้าดังกล่าวใช้เวลาเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับขัดขวางการทำงานของนางสาวระเบียบ หรือเป็นเหตุให้งานที่นางสาวระเบียบทำงานอยู่เกิดความล่าช้าหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวระเบียบเคยนำสินค้ามาจำหน่ายแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าผู้ควบคุมการทำงานก็เพียงแต่ตักเตือนนางสาวระเบียบด้วยวาจาเท่านั้น การกระทำของนางสาวระเบียบแม้จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแต่ก็เป็นเพียงกรณีที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งโจทก์จะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน เมื่อโจทก์เลิกจ้างนางสาวระเบียบโดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นางระเบียบ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เบี้ยเลี้ยง จ่ายให้ตอบแทนในการขาดรายได้ เป็นค่าจ้าง

ฎีกาที่  ๑๔๐๓๓/๒๕๕๕
                        เบี้ยเลี้ยงเป็นเงินที่จำเลยที่ ๒ จ่ายให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนการที่โจทก์ขาดรายได้จากส่วนแบ่งการขายที่โจทก์เคยได้รับอยู่เดิม เมื่อโจทก์ย้ายจากฝ่ายขายอยู่ฝ่ายดูแลสินค้าจึงไม่มีสิทธิได้รับ แต่จำเลยที่ ๒ ยังคงจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ ๒ ตกลงจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ ๕,๐๐๐.-บาท เป็นประจำทุกเดือนพร้อมกับเงินเดือนจึงเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายเดือน จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๔ ที่ต้องนำมาคำนวณอัตราค่าชดเชยด้วย