วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เลิกจ้างเพราะขาดทุน อาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม // เลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิจารณาจาก

ฎีกาที่  ๕๓๒๓/๒๕๕๔

                        กรณีใดจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง นั้น จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการเลิกจ้างโดนไม่มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่  หรือมีสาเหตุแต่ยังไม่สมควรถึงขนาดที่จะเลิกจ้าง  หรือสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือสัญญาจ้าง  หรือการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด  หรือการเลิกจ้างโดยมีเจนตาจะกลั่นแกล้งลูกจ้างเหล่านี้เป็นต้น  คดีนี้จำเลยที่ ๑ อ้างเหตุเลิกจ้างโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ประสบปัญหาการขาดทุนในปี ๒๕๔๗ และปี ๒๕๔๘ ปีละประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท  และมีแนวโน้มจะขาดทุนต่อไปเพราะสภาพธุรกิจมีคู่แข่งมากทำให้ปริมาณงานลดลง  จำเลยที่ ๑ มีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายโดนลดจำนวนพนักงาน  เห็นว่า  เหตุดังกล่าวแม้จะมีอยู่จริงแต่ปัญหาการขาดทุนของจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้เกิดเพราะสภาพทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว  แต่สาเหตุของการขาดทุนอีกประการหนึ่งตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ซื้อกิจการบริษัท พ. จึงมีพนักงานของบริษัทดังกล่าวรวมเข้าด้วยกับบริษัทจำเลยทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น  แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ ๑ ในปีต่อ ๆ ไปจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้จะนำผลการขาดทุนในปี ๒๕๔๗ และปี ๒๕๔๘ อย่างเดียวมาวินิจฉัยถึงความจำเป็นต้องปรับลดรายจ่ายและจำนวนพนักงานจนเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้  จำเลยที่ ๑ ยังให้พนักงานอื่นมาทำหน้าที่แทนโจทก์  จึงยังไม่มีเหตุผลจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์  การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม