วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชกต่อยกันในที่ทำงาน ไม่รุนแรง นายจ้างเลิกจ้างต้องรับผิดอย่างไร เพราะเหตุใด

ฎีกาที่  ๑๓๘๐๖/๒๕๕๕
                        ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับนายอรรถพรเพื่อนร่วมงานโจทก์ได้โต้เถียงกันอยู่ประมาณ ๕ นาที ในสถานที่ทำงานของจำเลย แล้วโจทก์ใช้กำลังชดต่อยนายอรรถพร ๒ ครั้ง ไม่ปรากฏบาดแผล ต่อมาโจทก์ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ในข้อหาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งแม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะระบุเป็นความผิดร้ายแรงก็ตาม แต่การจะเป็นความผิดระเบียบวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบ หาใช่ถือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างเดียวไม่ การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานนั้นเหตุเกิดขึ้นในห้องพนักงานสำรวจอุบัติเหตุในเวลาประมาณ ๕.๓๐ นาฬิกา เป็นเวลาก่อนการทำงานตามปกติของพนักงานทั่วไป และเมื่อมีผู้เข้าห้ามปรามก็เลิกรากันไป จึงไม่เกิดความความเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ไม่ แต่การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อร่วมงานอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓
หมายเหตุ    ในการทะเลาะทำร้ายกันในที่ทำงาน  ตามตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกานี้  นายจ้างต้องรับผิดในค่าชดเชย  เนื่องจากเป็นการเลิกจ้างในกรณีความผิดที่ไม่ร้ายแรง  เพราะนายจ้างไม่ได้รับความเสียหาย และถือเป็นความผิดเล็กน้อย ทั้งไม่ทำให้นายจ้างเสื่อมเสียชื่อเสียง  แต่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะถือเป็นความผิดต่อข้อบังคับของบริษัทฯ