วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ลาออกด้วยวาจา หรือไม่ทำตามข้อบังคับก็มีผลบังคับได้

                        คราวก่อนได้ว่าถึงกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทางโทรศัพท์  ( ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗)  ต่อไปนี้จะว่ากล่าวเรื่องการลาออก 
                        ขอทำความเข้าใจก่อน  การเลิกจ้าง การลาออก ตามกฎหมายก็คือการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน  การบอกเลิกสัญญานั้นกระทำได้โดยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาไปอีกฝ่ายหนึ่ง การลาออกก็คือการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานของฝ่ายลูกจ้าง 
                        ทีนี้มาดูข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง มักจะกำหนดเงื่อนไขว่า  การลาออกจะต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่บริษัทกำหนดนะ  จะต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๓๐ วันนะ ฯลฯ  ในกรณีลูกจ้างคิดว่า อยู่กับนายจ้างไม่ไหวแล้ว (วะ) ไปดีกว่า จึงได้เดินไปบอกนายจ้างว่า นายผมลาออกละนะ พรุ่งนี้ไม่ทำแล้ว ลาก่อนนะนาย”  ลูกจ้างจะลาออกโดยไม่ทำตามข้อบังคับได้ใหมหละ    

ฎีกาที่  ๕๖๘๑-๕๖๘๔/๒๕๕๕

                        การบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น จึงอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ส่วนการเลิกสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา นายจ้างหรือลูกจ้างจึงบอกกล่าวเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ส่วนการลาออกที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือก็ดี หรือมิได้ยื่นใบลาออกต่อผู้มีอำนาจของจำเลยล่วงหน้าและได้รับอนุมัติจากต้นสังกัด ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ดี ถือเป็นเรื่องการแสดงเจตนาลาออกหรือเลิกสัญญาจ้างที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ถือได้เพียงว่า ลูกจ้างปฏิบัติผิดหน้าที่ตามที่กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเท่านั้น ซึ่งหากการกระทำดังกล่าวก็เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างย่อมใช้สิทธิทางศาลต่างหาก  หาทำให้การแสดงเจรจาลาออกของโจทก์ที่  เสียไปไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ที่  แสดงเจตนาขอลาออกด้วยวาจาต่อนายจ้างย่อมมีผลทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง