วันหยุดประเพณี คืออะไร ตาม พรบ.คุ้มครอง ฯ มาตรา 29 วรรคสองและวรรคสาม
กำหนดว่าในการกำหนดวันหยุดพระเพณีให้นายจ้างพิจารณากำหนดจากวันหยุดราชการประจำปี
วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หากวันหยุดประเพณี (ที่กำหนด)
ตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง
ให้ลูกจ้างหยุดชดเชยวันหยุดประเพณีในวันทำงานถัดไป
ตามกฎหมายข้างต้น กฎหมายได้ระบุชัดแจ้งว่านายจ้างจะกำหนดวันหยุดประเพณีได้จะต้องพิจารณาจากวันที่กฎหมายกำหนดข้างต้นเท่านั้น และวันหยุดดังกล่าวที่นายจ้างกำหนดไปตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของนายจ้าง
นายจ้างทำได้อย่างเดียวคือไปกำหนดให้หยุดชดเชยวันหยุดประเพณีในวันทำงานถัดไปเท่านั้น
จะกำหนดเกินวันอื่นไม่ได้
ในกรณีที่นายจ้างกำหนดวันหยุดประเพณีไม่ตรงกับกฎหมายผลจะเป็นอย่างไร
เช่นนายจ้างกำหนดให้ที่ 12 สิงหาคม 2555 (วันเสาร์) เป็นวันหยุดประเพณีแต่วันดังกล่าวตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่เนื่องจากในวันจันทร์ (วันทำงานถัดไป) มีงานเยอะจึงกำหนดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยวันหยุดประเพณีวันอังคารแทน
ผลของกฎหมายถือว่าการที่นายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย
ดังนั้นหากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันจันทร์
(ตามกฎหมายนายจ้างต้องกำหนดให้เป็นวันหยุดชดเชยวันหยุดประเพณี)
นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้างและต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้กับลูกจ้างหากลูกจ้างมีการทำงานล่วงเวลา
อ้าว!!! แล้ววันอังคารที่นายจ้างกำหนดให้เป็นวันหยุดชดเชยวันหยุดประเพณีละ
นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างให้นะ
หรือวันดังกล่าวนายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานและจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้นะ
จะถือเป็นวันทำงานธรรมดาหรือปกติและเรียกเงินคืนได้มะ
(ก็นายจ้างสำคัญผิดหรือจ่ายผิดไปนะ!!!!)
ตามแนวฎีกาบอกว่า เรียกคืนไม่ได้นะ
ก็นายจ้างจ่ายให้ผิดเองนี่ จะมาเรียกคืนได้ไง ถือเป็นการจ่ายตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเรียกเงินคืนไม่ได้
เท่ากับว่ากรณีนี้นายจ้างต้องจ่าย 2 เด้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11182/2553
การที่นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดอื่นเป็นวันหยุดตามประเพณีแทนวันหยุดราชการประจำปี
วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของนายจ้างเป็นโมฆะ
แต่ก็ถือได้ว่าประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของนายจ้างไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
และไม่เป็นการยกเว้นวันหยุดตามประเพณีตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
นายจ้างจึงยังคงต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี
วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นให้ลูกจ้างทราบและให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าว
หากให้ลูกจ้างมาทำงานก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามกฎหมาย
การที่นายจ้างกำหนดให้วันทำงานปกติของลูกจ้างเป็นวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีตามอัตราค่าจ้างในวันหยุด ถือเป็นการตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานเกินไปกว่าค่าจ้างในวันทำงานปกติตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ
ไม่อาจนำเอาเหตุที่ได้จ่ายค่าจ้างเกินกว่าปกติกับการที่ลูกจ้างยอมรับค่าจ้างมาอ้างว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอม
การที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างมากกว่าที่ควร ได้รับไม่ถือว่าเป็นการตกลงอันใดขึ้นใหม่
นายจ้างจะถือว่าได้ชำระหนี้ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดตามประเพณีแล้วหาได้ไม่และหากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี
ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่ง