คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6116/2558
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งบริการผู้โดยสาร
โจทก์มีหน้าที่ขนถ่ายสัมภาระของผู้โดยสาร ดูแลจัดเคาน์เตอร์เตรียมอุปกรณ์ให้พนักงานตรวจบัตรโดยสาร
ช่วยเหลือผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษตามเวลาขึ้นลงของเครื่องบิน
มีเวลาทำงานเป็นกะ โจทก์เข้าทำงานสายและลาป่วยบ่อยครั้ง ปรากฏตามตารางการทำงานของโจทก์เอกสารหมาย
ล.3 ว่าเดือนธันวาคม 2552 มาสาย 9 วัน เดือนมกราคม 2553 มาสาย 15 วัน
เดือนกุมภาพันธ์ 2553 มาสาย 7 วัน และระหว่างวันที่ 1 ถึง 7 มีนาคม 2553 มาสาย 2
วัน ผลจากการที่โจทก์มาทำงานสายทำให้จำเลยบริการลูกค้าไม่ทันเวลาและลูกค้าไม่ได้รับบริการจากจำเลยเต็มที่
หัวหน้างานของโจทก์เคยเตือนโจทก์ด้วยวาจาและบันทึกการตักเตือนไว้ในสมุดบันทึกเอกสารหมาย
ล.6 และวันที่ 3 มีนาคม 2553 นาง ด. ผู้จัดการแผนกแรงงานสัมพันธ์
เรียกโจทก์ตักเตือนว่าโจทก์มาทำงานสาย ลาป่วยบ่อย และขาดงาน เป็นการกระทำไม่เหมาะสม
ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้โจทก์ปรับปรุงตัวมิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้าง
กับให้โจทก์เขียนใบลาออกไว้แต่ไม่ลงวันที่ ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2553
โจทก์เข้าทำงานสายอีก นางสาว ร. ผู้จัดการแผนกฝ่ายการโดยสาร
ซึ่งได้รับรายงานเรื่องการมาทำงานสายของโจทก์จากหัวหน้างานของโจทก์จึงเรียกโจทก์ไปแจ้งการเลิกจ้าง
ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า
การมาทำงานสายเป็นประจำยังไม่พอฟังได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
ส่วนที่โจทก์ไม่มาทำงานเพราะเจ็บป่วย จำเลยไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ไม่ได้ป่วยจริง
และเมื่อโจทก์มาทำงานสายแม้เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโจทก์ก็ถูกหักค่าจ้างอยู่แล้ว
กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับกรณีร้ายแรง ไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 119 และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2553
ตามส่วนด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า
การกระทำของโจทก์ที่ลาป่วยและมาทำงานสายบ่อยครั้งเป็นการกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรงหรือไม่
เห็นว่า การที่โจทก์(1)ลาป่วยบ่อยโดยไม่ได้ความว่าไม่ได้ป่วยจริง ไม่เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและไม่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ส่วน(2)การที่โจทก์มาทำงานสายบ่อยครั้ง เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติงานไม่อุทิศเวลาให้แก่งานและไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน
ซึ่งโจทก์เองได้รับผลตอบแทนการกระทำของตนโดยไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนที่มาสายหรือขาดงานไปแล้ว
ไม่เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเช่นกัน และแม้การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรง
ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์นั้น
ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเหตุ คดีนี้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย
และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และยกในส่วน
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม