ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์ทำงานเป็นพนักงานนวดที่บริษัทจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ออกอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ
เมื่อโจทก์นวดลูกค้าได้ค่าแรงมาก็แบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลย
การเข้าทำงานบริษัทจำเลยพนักงานต้องกรอกใบสมัครงาน ต้องผ่านการสัมภาษณ์
หากมีคุณสมบัติตรงตามที่จำเลยต้องการจำเลยจะรับเข้าทำงาน
จำเลยเป็นผู้จัดสถานที่ทำงานให้พนักงาน อุปกรณ์เครื่องมือ
เครื่องใช้ในการทำงานเช่นน้ำมัน ครีม ผ้าขนหนู เสื้อคลุม จำเลยจะจัดเตรียมไว้ให้พนักงาน
โจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงๆ ละ 80.-
บาท ทำงานเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง
คิดเป็นค้าจ้างวันละ 320.- บาท มีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 3
และวันที่ 18 ของเดือน
และจำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ว่าด้วยการมาทำงาน การลาหยุด
โจทก์มาทำงานหรือไม่ก็ได้ แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ถูกหักเงินประกันสังคม 650.-บาท เท่ากับโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,500.-บาท
และเป็นค่าจ้างที่จำเลยคำนวณตามผลงานที่ทำ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยตามผลงาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่
เห็นว่า (1) จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการมาทำงาน การลาหยุด
และวันหยุด (2) การมาทำงานโจทก์จะมาทำงานหรือไม่ก็ได้ เมื่อมาทำงานแล้วโจทก์จะกลับไปก็ได้เพียงแต่แจ้งให้ผู้จัดการของจำเลยทราบ (3) วันใดที่โจทก์ไม่มาทำงานก็จะไม่มีค่าแรงแบ่งให้ (4) หากจำเลยขาดงานโดยไม่แจ้งให้ผู้จัดการของจำเลยทราบก็ไม่มีบทลงโทษโจทก์ จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์
เมื่อพนักงานของจำเลยเข้าทำงานรวมถึงโจทก์ด้วยจำเลยจะจัดคิวก่อนหลังให้แก่พนักงาน
ซึ่งการจัดคิวของจำเลยมิใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชาแต่เป็นการจัดอันดับก่อนหลังของพนักงานเพื่อรักษาระเบียบทั้งป้องกันการทะเลาะกัน เมื่อจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์อย่างลูกจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิใช่นายจ้างลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ที่ศาลแรงงานภาค 8
วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น จึงไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์