วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สถานประกอบการถือเป็นนายจ้างของลูกจ้าง (sub contract) ซับคอนแทรค ด้วย


ฎีกาที่  ๓๐๐๓-๓๐๐๔/๒๕๕๖
                        ศาลแรงงานภาค ๒ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ดำเนินกิจการประกอบโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่และติดตั้งแท่นเจาะ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องการว่าจ้างลูกจ้างด้วยตนเองเพราะเกรงความรับผิดในฐานะนายจ้างจึงทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิใช่ผู้รับอนุญาตจัดหางาน (มิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน) ไปว่าจ้างลูกจ้างและส่งมาทำงานในกระบวนการผลิตให้แก่จำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๒ รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างแต่ก่อนทำสัญญาจ้าง โจทก์จะต้องไปทดสอบงานกับจำเลยที่ ๑ เมื่อผ่านการทดสอบแล้วจำเลยที่ ๒ ส่งโจทก์ไปปฏิบัติงานที่บริษัทจำเลยที่ ๑ ตำแหน่งหัวหน้างานประกอบติดตั้งแท่นเจาะ ได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ ๗๐ บาท โดยทำงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยทั้งสอง  ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๑ จะไม่ใช่ผู้ว่าจ้างโจทก์โดยตรงก็ตาม แต่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ความหมายของคำว่า นายจ้างตาม (๓) ให้ถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างของลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ด้วย จำเลยที่ ๑ จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ โจทก์ทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานประกอบติดตั้งแท่นเจาะซึ่งมีลักษณะเป็นงานถาวร การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์โดยมีกำหนดเวลาแต่จำเลยทั้งสองได้ต่อสัญญาจ้างโจทก์ทุกปีเรื่อยมา ถือเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสาม เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๙โจทก์เป็นผู้แทนลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเงินโบนัสและสวัสดิการต่อจำเลยที่ ๒ แต่ตกลงกันไม่ได้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดเจรจารวม ๔ ครั้ง คือวันที่ ๑๔ วันที่ ๒๒ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๐ แต่ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ จำเลยทั้งสองยึดบัตรพนักงานและไม่ให้โจทก์เข้าทำงานในบริษัทจำเลยที่ ๑ พฤติกรรมดังกล่าวของจำเลยทั้งสองถือเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๒ อ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตั้งแต่วันที่ ๓ ถึงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์แล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
                        จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ข้อที่ ๒.๑ ว่านาย ส. พยานจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ จากจำเลยที่ ๒ ไม่ใช่บริษัทจำเลยที่ ๑”  สอดคล้องกับคำเบิกความของนายนที ขันทอง ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ ๒ ที่เบิกความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ โดยเข้าทำงานตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ในตำแหน่งหัวหน้างานได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ ๗๐ บาทโจทก์เองก็ยอมรับว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ มิใช่จำเลยที่ ๑ และที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ข้อ.๒.๒ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงการว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ ทำการงานที่ว่าจ้างอันมีลักษณะเป็นการจ้างทำของ ในเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๒ ที่เป็นผู้รับจ้างของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาที่มีต่อกัน ผลจึงสรุปได้ว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เท่านั้นมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ด้วย กับที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ข้อ.๒.๓ ว่าตามสัญญาจ้างบริการข้อ.๒ พันธะผูกพันของผู้รับจ้างข้อ ๒.๗ และข้อ.๒.๘ ได้มีเงื่อนไขระหว่างกันกำหนดให้จำเลยที่ ๑ มิต้องร่วมจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างของตนด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับภาระความรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวนั้น เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลแรงงานภาค ๒ ได้วินิจฉัยโดยชอบแล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย  อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น