วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หนังสือเลิกจ้าง ต้องระบุเหตุเลิกจ้างอย่างไร จึงจะชอบมาตรา 119 วรรคท้าย

ฎีกาที่  ๓๕๕๓/๒๕๕๖
        โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๒ มีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับพนักงานอันเป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง และหนังสือเลิกจ้างระบุว่าจำเลยที่ ๒ ประพฤติตนไม่เหมาะสมเป็นเหตุการเลิกจ้างแล้วนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม (เดิม) บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ เมื่อโจทก์ระบุเหตุผลในหนังสือเลิกจ้างไว้เพียงว่าจำเลยที่ ๒ ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงาน โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างว่าการประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๒ นั้นประพฤติตนในรายละเอียดอย่างไรจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งจนถึงเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ จำเลยที่ ๒ ย่อมไม่เข้าใจว่าตนถูกเลิกจ้างเพราะประพฤติไม่เหมาะสมอย่างใด เมื่อโจทก์ไม่ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างว่าจำเลยที่ ๒ มีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวอันเป็นเหตุผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.๑ ดังนั้นโจทก์จะยกเหตุดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม (เดิม)ได้ไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่จำเลยที่ ๒ คำสั่งของจำเลยที่ ๑ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว


หมายเหตุ มาตรา 17 วรรคสาม ถูกยกเลิก  โดยได้นำมาระบุในมาตรา 119 วรรคท้าย “ การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ “