กรณีลูกจ้างไม่พอใจนายจ้าง เห็นว่านายจ้างกระทำต่อตนไม่ถูกต้อง
ไม่เป็นธรรม การตัดสินใจกระทำบางอย่างลงไปต้องคิดให้รอบคอบ
ปรึกษาจากผู้รู้เสียก่อน ตัวอย่างเช่นนายจ้างมีคำสั่งย้ายงาน ย้ายตำแหน่ง
ควรพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่
นายจ้างมีสิทธิจะย้ายหรือไม่
หากไม่พอใจคำสั่งของนายจ้างมีระเบียบหรือช่องทางในการอุทธรณ์หรือให้นายจ้างพิจารณาใหม่หรือไม่ทั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
การตัดสินใจผิดพลาดอาจจะเป็นโทษต่อตนในภายหลัง
ฎีกาที่ ๑๓๘๙๐/๒๕๕๕
ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัท ท.
ว่าจ้างโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ต่อมาบริษัท ท. ย้ายโจทก์ไปทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการโดยสาร
วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๘ ย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์โดยให้มีผลวันที่
๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ และวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ได้มีหนังสือลดค่าจ้างโจทก์จาก ๓๐,๐๐๐ บาท เหลือ ๒๐,๐๐๐ บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑
กรกฎาคม ๒๕๔๘ โจทก์ทำงานกับบริษัท ท.ถึงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และวินิจฉัยว่า
การที่บริษัท ท.มีคำสั่งดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์
คำวินิจฉัยของจำเลยตามคำสั่ง ๓๒/๒๕๔๘ จึงเป็นการชอบ ไม่มีเหตุให้เพิกถอน
โจทก์อุทธรณ์ว่า
การที่บริษัท ท. เปลี่ยนตำแหน่งงานโจทก์ก็เพื่อจะบีบบังคับ กดดัน
กลั่นแกล้งให้โจทก์ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและความรู้ความสามารถของโจทก์
จึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้วนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปได้และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด
และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและมาได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” ซึ่งข้อเท็จจริงศาลแรงงานกลางฟังมาปรากฏว่าบริษัท ท.เพียงแต่ย้ายตำแหน่งงานและลดค่าจ้างโจทก์ แต่ยังคงให้โจทก์ทำงานอยู่ต่อไป
ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าการกระทำของบริษัท ท. กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์
โจทก์ก็สามารถนำคดีฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อพิจารณาในปัญหาดังกล่าวหรือร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อวินิจฉัยกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ครบถ้วนก็ได้
ดังนั้นบริษัท ท. ไม่ได้กระทำการใดที่จะไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้
และไม่เข้ากรณีที่โจทก์ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่บริษัท ท.
ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ การที่ศาลแรงงานกล่าววินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าบริษัท ท. เลิกจ้างโจทก์ คำสั่งที่ ๓๒/๒๕๔๘
ของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยจึงชอบแล้ว
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น