โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยมิได้ส่งสำเนาให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันประกาศใช้ข้อบังคับ
จึงเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 108 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นภาษาไทย
และข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการดังต่อไปนี้ (1)
วันทำงาน เวลาทำงานปกติ และเวลาพัก...ฯลฯ (8) การเลิกจ้าง ค่าชดเชย
และค่าชดเชยพิเศษ
ให้นายจ้างประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
และให้นายจ้างจัดเก็บสำเนาข้อบังคับนั้นไว้ ณ
สถานที่ประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้างตลอดเวลา และให้ส่งสำเนาข้อบังคับให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว
ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้นายจ้างแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ขัดต่อกฎหมายให้ถูกต้องในเวลาที่กำหนด
ให้นายจ้างเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยเปิดเผย
ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและดูได้โดยสะดวก และมาตรา 146 บัญญัติว่า
นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15ฯลฯ มาตรา 108ฯลฯ
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามบทกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างผู้ซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
และให้ส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตรวจสอบว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวมีส่วนใดที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่
ถ้ามีส่วนใดขัดต่อกฎหมายก็ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งให้นายจ้างแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ขัดต่อกฎหมายให้ถูกต้องและให้นายจ้างเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยเปิดเผย
ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษตามมาตรา 146
ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุ้มครองลูกจ้างมีประสิทธิภาพและให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองมากขึ้น
ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.10
ที่จำเลยจัดทำขึ้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการที่กฎหมายกำหนดไว้ครบถ้วนแล้วโดยเฉพาะการเลิกจ้างได้กำหนดไว้ในข้อ
22.2 ว่าการเลิกจ้างเมื่อครบเกษียณอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
และศาลแรงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยได้ประกาศใช้บังคับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวและปิดประกาศไว้ที่บอร์ดภายในสำนักงานของจำเลยและที่ประตูทางเข้าที่พักของพนักงาน
และไม่ปรากฏว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.10
ข้อใดขัดต่อกฎหมาย
ทั้งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวยังประกาศใช้ก่อนที่โจทก์ทั้งสามเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.10
จึงใช้บังคับระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยได้ ส่วนที่ว่าจำเลยเริ่มประกอบกิจการและมีลูกจ้างเกินกว่า
10 คน มาตั้งแต่ปี 2539 จำเลยเพิ่งประกาศใช้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในวันที่
1 มิถุนายน 2542 เกินกำหนดระยะเวลา 15 วัน
และจำเลยมิได้ส่งสำเนาระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้นให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมาย
อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตาม 108 วรรคหนึ่ง
และวรรคสองดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม
ก็เป็นเพียงทำให้จำเลยต้องรับโทษตามบทบัญญัติมาตรา 146 เท่านั้น
ไม่ทำให้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นอันเสียไปแต่อย่างใด
อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น