วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เลิกจ้างทางโทรศัพท์สามารถทำได้หรือไม่ // เลิกจ้างด้วยวาจา ต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างด้วย

ฎีกาที่  ๑๙๐๖/๒๕๕๖
                        คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทางโทรศัพท์  เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘  โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างและปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง  ถ้านายจ้างมิได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ มีความหมายว่ากรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือหากประสงค์จะยกเหตุตามาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนายจ้างต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย หากไม่ระบุไว้นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง  แต่ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจา  ดังนั้นถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกจ้างด้วยวาจาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือ  แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าหากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙  ขึ้นอ้างปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา  ในขณะที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทย์ผู้เป็นลูกจ้างด้วยวาจาโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดจากการที่โจทก์กับพวกตั้งบริษัท ว. ทำกิจการค้าแข่งขันกับจำเลย ถือเป็นกรณีจำเลยได้ระบุเหตุตามมาตรา ๑๑๙(๒) (๔)  แก่โจทก์ในขณะบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาแล้ว  จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย  ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม  ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น   
                        พิพากษายืน

หมายเหตุ
ตาม พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน ฯ  ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ พ.ศ.๒๕๕๑ แก้ไข มาตรา ๑๑๙  วรรค ๓   เป็น การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง นายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง  หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ ซึ่งเป็นบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ากรณีการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา (กฎหมายใช้คำว่า แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ทราบขณะเลิกจ้าง”) กฎหมายบังคับให้ต้องแจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบด้วย  หากไม่แจ้งนายจ้างจะยกเหตุขึ้นอ้างในการต่อสู้คดีในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยไม่ได้