การกระทำของลูกจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆประกอบกันหลายประการ อาทิ (๑) ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง (๒) ลักษณะและพฤติการณ์ การกระทำความผิดของลูกจ้าง (๓) ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำมีมากน้อยเพียงใด
นางสาวระเบียบทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรที่ประกอบชิ้นงานในรูปแบบต่างๆ
เช่น รูปงานเกี่ยวกับร้อยสายไฟฟ้าเป็นต้น โดยยืนทำงานอยู่หน้าเครื่องจักร นางสาวระเบียบนำอาหารมาวางขายไว้ใกล้กับเครื่องจักรที่นางสาวระเบียบทำงาน
สินค้าที่เป็นชิ้นผู้ซื้อจะหยิบสินค้านั้นและมาจ่ายเงินแก่นางสาวระเบียบบางครั้งนางสาวระเบียบก็ทอนเงินแก่ลูกค้า
บางครั้งหยิบอาหารใส่ถุงให้ลูกค้าด้วย
ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการซื้อขายสินค้าดังกล่าวใช้เวลาเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับขัดขวางการทำงานของนางสาวระเบียบ
หรือเป็นเหตุให้งานที่นางสาวระเบียบทำงานอยู่เกิดความล่าช้าหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด
ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวระเบียบเคยนำสินค้ามาจำหน่ายแล้วครั้งหนึ่ง
ซึ่งหัวหน้าผู้ควบคุมการทำงานก็เพียงแต่ตักเตือนนางสาวระเบียบด้วยวาจาเท่านั้น
การกระทำของนางสาวระเบียบแม้จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแต่ก็เป็นเพียงกรณีที่ไม่ร้ายแรง
ซึ่งโจทก์จะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน
เมื่อโจทก์เลิกจ้างนางสาวระเบียบโดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นางระเบียบ