วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ศาลจะพิจารณาจากอะไร

                  สถานประกอบการที่มีการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง  ตามกฎหมายนั้นกรณีที่นายจ้างประสงค์เลิกจ้าง ลงโทษ กรรมการลูกจ้าง จะต้องร้องขอต่อศาลแรงงานเพื่อขออนุญาตจากศาลก่อน  และศาลต้องอนุญาตก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพื่อมิให้นายจ้างกลั่นแกล้ง บีบบังคับ กรรมการลูกจ้างเนื่องจากกรรมการลูกจ้างถือเป็นตัวแทนของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นๆ การดำเนินการข้างต้นกฎหมายจึงวางไว้ให้ผ่านศาลแรงงานเพื่อตรวจสอบดุลพินิจของนายจ้างก่อน
                  การพิจารณาของศาลแรงงานนั้น  จะพิจารณาโดยใช้ดุลพินิจอย่างไร ว่านายจ้างมีเหตุสมควรในการดำเนินการข้างต้นนั้นหรือไม่  พิจารณาฎีกานี้เป็นแนวทางได้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๙๙๐-๓๐๐๐/๒๕๕
                 ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ และที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๖ อุทธรณ์ว่า อำนาจศาลแรงงานในการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๔๖ (๗) ซึ่งได้กำหนดแนวทางที่มาและจำนวนกรรมการลูกจ้างไว้ชัดแจ้ง ซึ่งในสถานประกอบการของผู้ร้องคณะกรรมการของสหภาพแรงงานเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการลูกจ้างได้ ๑๗ ถึง ๒๑ คน กรรมการลูกจ้าง ๕ คน จาก ๑๖ คน ที่ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างยินยอมให้ผู้ร้องเลิกจ้างไปแล้ว จึงเหลือกรรมการลูกจ้างเพียง ๑๑ คน ที่ต่อสู้คดีอยู่ การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างจะต้องยึดถือจำนวยลูกจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อผู้ร้องมีลูกจ้างเหลืออยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ คน กรรมการลูกจ้างก็จะถูกแต่งตั้งโดยกรรมการสหภาพแรงงานเหมือนเดิม ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดคนจึงเป็นกรรมการลูกจ้างต่อไปได้และกรรมการลูกจ้างมีหน้าที่ต้องประชุมร่วมกับผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องจะต้องส่งผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดคนไปเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ผู้ร้องควรเลิกจ้างลูกจ้างธรรมดาไปก่อน แล้วจึงเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดคนเป็นทางสุดท้าย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔๕ วรรคสอง และมาตรา ๔๖(๗) นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับลักษณะคุณสมบัติและจำนวนคณะกรรมการลูกจ้างเท่านั้น หาใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอันเป็นเหตุพิพาทในคดีนี้แต่อย่างใด โดยการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอันเป็นการคุ้มครองกรรมการลูกจ้างนั้นต้องเป็นไปตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ กล่าวคือ นายจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนจึงจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ซึ่งศาลแรงงานจำต้องพิจารณาวินิจฉัยถึงมูลเหตุและความจำเป็นในการเลิกจ้างว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ตามพฤติการณ์แห่งคดีในแต่ละเรื่อง โดยพิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการกระทำของนายจ้างและกรรมการลูกจ้างประกอบเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า การเลิกจ้างจะต้องคำนึงถึงจำนวนของลูกจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างที่คงมีอยู่ในสถานประกอบกิจการ และจะต้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างภายหลังลูกจ้างธรรมดา ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดที่เป็นกรรมการลูกจ้าง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ ที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๖ ฟังไม่ขึ้น