วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เอากระดาษบริษัทไปถ่ายเอกสาร กับความผิดลักทรัพย์ // คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีอำนาจออกคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างได้


ฎีกาที่  4748/2556
                        ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 14 และที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่หัวหน้ากะ จำเลยที่ 14 และที่ 15 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์เลิกจ้างเพราะจำเลยที่ 14 และที่ 15  ลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง และเป็นผู้แทนเจรจา เป็นผู้จัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพ เป็นการเลิกจ้างในระหว่างเจรจาข้อเรียกร้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 วินิจฉัยว่าการเลิกจ้างจำเลยที่ 14 และที่ 15 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมารตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งยังเป็นการเลิกจ้างในระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน จึงมีคำสั่งข้อ.1 ให้โจทก์รับจำเลยที่ 14 และที่ 15 กลับเข้าทำงานกับให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงาน และข้อ.2 การปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและการจ่ายโบนัสแก่จำเลยที่ 14 และที่ 15 นั้น ให้โจทก์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือสภาพการจ้างที่ปฏิบัติต่อกัน ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 54-55/2548 ลงวันที่ 28 เมษายน 2548 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 เวลา 7.30 นาฬิกา จำเลยที่ 15 วานให้นาง พ. ลูกจ้างของโจทก์ ถ่ายเอกสารใบสำคัญการจดทะเบียนของสหภาพแรงงาน ใบสมัครสมาชิกสหภาพแรงงาน และข้อบังคับสหภาพแรงงาน รวมทั้งกฎหมายน่ารู้เกี่ยวกับกิจการสหภาพแรงงานจำนวน 280 แผ่น โดยใช้กระดาษสำหรับถ่ายเอกสารและเครื่องถ่ายเอกสารของโจทก์ จำเลยที่ 15 แจ้งต่อ นาง พ. ให้เก็บเอการไว้ก่อนจะมาเอาเอกสารเมื่อเลิกงาน เหตุที่จำเลยที่ 15 ไม่นำเอกสารไปถ่ายภายนอกสำนักงานโจทก์เพราะขาดเงินทุนเนื่องจากขณะนั้นเพิ่งเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงาน ในการดำเนินการถ่ายเอกสารดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงาน จำเลยที่ 15 จึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสามารถใช้กระดาษและเครื่องถ่ายเอกสารของโจทก์ได้ ขณะนาง พ. ถ่ายเอกสาร นาง ฤ. ลูกจ้างของโจทก์อยู่ด้วย การถ่ายเอสการกระทำโดยเปิดเผย โจทก์ไม่มีระเบียบข้อบังคับควบคุมเกี่ยวกับการถ่ายเอกสาร โจทก์จัดเก็บกระดาษไว้สำหรับถ่ายเอกสารในตู้ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีข้อบังคับว่าด้วยการถ่ายเอกสารของโจทก์ ทั้งขณะถ่ายเอกสาร นาง ฤ. ลูกจ้างโจทก์อยู่ด้วย เมื่อผู้จัดการโรงงานโจทก์ยึดเอกสารไป จำเลยที่ 14 ทำหนังสือทวงคืนเอกสารเพราะเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของสหภาพแรงงาน พฤติกรรมของจำเลยที่ 14 และที่ 15 ไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 14 และที่ 15 มีเจตนาลักทรัพย์ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง ขณะเลิกจ้างจำเลยที่ 14 และที่ 15 อยู่ในระหว่างที่ลูกจ้างของโจทก์ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ และมีการร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน โจทก์จำเลยที่ 14 และที่ 15 เป็นแกนนำและเป็นผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้างกับฝ่ายโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าเหตุที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 และที่ 15 เพราะโจทก์ไม่พอใจที่โจทก์จำเลยที่ 14 และที่ 15 เป็นแกนนำลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องและจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และมีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ 14 และที่ 15 กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างถึงวันกลับเข้าทำงาน คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 มีคำสั่งข้อ.2 ให้โจทก์ปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและจ่ายเงินโบนัสแก่จำเลยที่ 14 และที่ 15 ตามหลักเกณฑ์หรือสภาพการจ้างที่ปฏิบัติต่อกันนั้น เป็นการพิจารณาสั่งตามความในตอนท้ายของบทบัญญัติมาตรา 41 (4) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามสมควร บทบัญญัติดังกล่าวหาได้จำกัดความว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 45-46/2548 จึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
                        มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 14 และที่ 15 เป็นการลักทรัพย์นายจ้างอันเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือไม่ เห็นว่า การกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริต หากเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยถือวิสาสะที่เข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถทำได้ ไม่ถือว่ามีเจตนาทุจริต การที่จำเลยที่ 15 วานให้นาง พ. ถ่ายเอกสารเกี่ยวกับสภาพแรงงานโดยใช้กระดาษและเครื่องถ่ายเอกสารของโจทก์นั้น ก็กระทำในสถานที่ทำงานของโจทก์โดยเปิดเผย และเป็นการนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อกิจการสหภาพแรงงาน จำเลยที่ 14 และที่ 15 ย่อมเข้าใจว่าสามารถใช้กระดาษและเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อใช้ในกิจการของสหภาพแรงงานได้ การกระทำของจำเลยที่ 14 และที่ 15 เป็นการกระทำโดยถือวิสาสะ ไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
                        อุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่าคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 54-55/2548 ที่สั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ 14 และที่ 15 กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 41 (4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หาได้จำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่ เพราะข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหลายอย่างตามที่เห็นสมควรตามแต่กรณี กล่าวคือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างได้ เพื่อเป็นการบรรเทาผลร้ายที่ลูกจ้างได้รับจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม ส่วนการที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยที่ 14 และที่ 15 ไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและโบนัสจึงมี่มีค่าเสียหายส่วนนี้ ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ ดังนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ 14 และที่ 15 กลับเข้าทำงาน จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันถูกเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงาน ปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและจ่ายโบนัสแก่จำเลยที่ 14 และที่ 15 ตามหลักเกณฑ์หรือสภาพการจ้างปฏิบัติต่อกันได้ คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 44-45/2548 จึงชอบด้วยข้อกฎหมายแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน