วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เจตนาส่งเงินช้า ถือเป็นทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อบังคับร้ายแรง

ฎีกาที่  4754/255
                 ข้อเท็จจริงในสำนวนเป็นยุติว่าจำเลยได้ประชุมพนักงานจำเลย และที่ประชุมมีมติให้พนักงานของจำเลยทุกคนต้องส่งเงินจำเลยภายใน 24 ชั่วโมง โจทก์รับทราบมติดังกล่าวแต่โจทก์กลับนำส่งเงินแก่จำเลยล่าช้าและทำรายงานเท็จเสนอต่อจำเลยว่าคู่กรณีได้ผัดผ่อนเลื่อนการชำระเงิน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการนำส่งเงินให้แก่จำเลยล่าช้าขัดต่อมติที่ประชุมของจำเลย แม้ต่อมาโจทก์จะนำเงินมามอบแก่จำเลยแต่การกระทำของโจทก์ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าไม่นำส่งเงินจำนวน 40,000 บาท แก่จำเลยทันทีก็เนื่องจากโจทก์รอการผ่อนชำระเงินจำนวนค่าสินไหมที่เหลืออีก 30,000 บาทนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรอให้ครบจำนวนค่าสินไหมแต่ประการใด โจทก์สามารถรายงานตามความเป็นจริงได้ว่ามีการผ่อนชำระค่าสินไหมและเมื่อมีการชำระส่วนที่ขอผ่อนแล้วโจทก์ก็นำส่งให้แก่จำเลยได้อีกตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงเป็นข้อบังคับไว้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรงแล้ว จำเลยย่อมมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49  ที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วนั้นจึงชอบแล้ว