วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สัญญาค้ำประกันการทำงาน ผูกพันความเสียหายที่ลูกจ้างก่อขึ้นขณะเป็นลูกจ้างเท่านั้น

ค้ำประกันคนเข้าทำงาน  ถือเป็นสัญญาที่บุคคลผู้ค้ำประกันต้องเข้าไปเสี่ยงผูกพันความรับผิดต่อบุคคลที่ตนเข้าไปค้ำประกัน  แล้วจะมีผลผูกพันเพียงใด!! กรณีที่บุคคลที่ค้ำประกันออกจากงานแล้วไปกระทำความผิด หรือผิดสัญญาต่อนายจ้างแล้ว  ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมหรือไม่!!  

ฎีกาที่  ๔๗๕๘/๒๕๕๖           
                        ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ประกอบกิจการเกี่ยวกับการซื้อขายและผลิตสินค้าประเภทซีล โอริ่ง จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๖ จำเลยที่ ๑ ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ ไปทำงานกับบริษัท อ. ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันและแข่งขันกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงผิดสัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ.๔ ที่ว่าจำเลยที่ ๑ จะไม่ปฏิบัติงานกับบริษัทที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท

                        โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกรณีจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างแรงงานข้อ.๔  หรือไม่เห็นว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๖ ระบุว่า “หากเมื่อนาย ส. (จำเลยที่ ๑) เข้าปฏิบัติงานกับบริษัทฯ แล้วภายหลังทำให้บริษัทฯ หรือทรัพย์สินของบริษัทฯ ได้รับความเสียหายด้วยประการใดๆ ก็ตาม ข้าพเจ้านาง ศ. (จำเลยที่  ๒) ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนทันทีอย่างลูกหนี้ร่วมให้แก่บริษัทฯ ทั้งหมดเต็มตามจำนวนที่ได้รับความเสียหาย” ไม่มีข้อความใดระบุโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ ๒ ยอมผูกพันร่วมรับผิดหากจำเลยที่ ๑ เข้าปฏิบัติงานกับบริษัทหรือหน่วยงานอื่นที่ประกอบกิจการประเภทเดี่ยวกันกับโจทก์หรือเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของจำเลยภายในระยะเวลา ๕ ปี หลังจากลาออกจากการเป็นพนักงานหรือหลังจากสิ้นสุดสัญญาการว่าจ้างดังที่ระบุไว้ในข้อ.๔ ของสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.๓ ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงจำกัดเฉพาะความเสียหายใดๆ ที่จำเลยที่ ๑ ก่อขึ้นในระหว่างเป็นลูกจ้างของโจทก์เท่านั้น หาผูกพันถึงความเสียหายกรณีที่จำเลยที่ ๑ ไปเป็นลูกจ้างบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของโจทก์ในภายหลังไม่ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายในส่วนนี้  ที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น