วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เลิกจ้างทางโทรศัพท์สามารถทำได้หรือไม่ // เลิกจ้างด้วยวาจา ต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างด้วย

ฎีกาที่  ๑๙๐๖/๒๕๕๖
                        คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทางโทรศัพท์  เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘  โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างและปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง  ถ้านายจ้างมิได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ มีความหมายว่ากรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือหากประสงค์จะยกเหตุตามาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนายจ้างต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย หากไม่ระบุไว้นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง  แต่ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจา  ดังนั้นถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกจ้างด้วยวาจาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือ  แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าหากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙  ขึ้นอ้างปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา  ในขณะที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทย์ผู้เป็นลูกจ้างด้วยวาจาโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดจากการที่โจทก์กับพวกตั้งบริษัท ว. ทำกิจการค้าแข่งขันกับจำเลย ถือเป็นกรณีจำเลยได้ระบุเหตุตามมาตรา ๑๑๙(๒) (๔)  แก่โจทก์ในขณะบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาแล้ว  จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย  ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม  ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น   
                        พิพากษายืน

หมายเหตุ
ตาม พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน ฯ  ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ พ.ศ.๒๕๕๑ แก้ไข มาตรา ๑๑๙  วรรค ๓   เป็น การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง นายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง  หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ ซึ่งเป็นบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ากรณีการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา (กฎหมายใช้คำว่า แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ทราบขณะเลิกจ้าง”) กฎหมายบังคับให้ต้องแจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบด้วย  หากไม่แจ้งนายจ้างจะยกเหตุขึ้นอ้างในการต่อสู้คดีในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยไม่ได้




วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

มาสายประจำ ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

                ในการจ้างงาน  นายจ้างย่อมหวังว่าลูกจ้างจะต้องทำงานให้กับตนเต็มที่  จึงได้มีกฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติงานให้อย่างเต็มความสามารถ ลูกจ้างบางคนไม่ใส่ใจระเบียบบริษัทฯ  เช่นชอบมาทำงานไม่เป็นไปตามเวลาทำงานปกติที่นายจ้างกำหนด  กลับก่อนเวลาเลิกงาน ถ้าทำบ่อยเข้า  นายจ้างอาจลงโทษตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือทนไม่ได้ อาจไม่ให้ทำงานต่อไป  หรือเลิกจ้างได้      

ฎีกาที่  ๒๔๗๑/๒๕๕๖

                ตามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเอกสาร ล.๑๕ ข้อ.๒ ระบุว่า โจทก์ไม่อุทิศเวลาทำงานให้บริษัทฯ  มีการมาปฏิบัติงานสาย ลาป่วย ลากิจมากเกินปกติในรอบปี ๒๕๔๙ จนถึงรอบปีปัจจุบัน  ซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือเตือนตามเอกสารหมาย ล.๗ ข้อ ๑.๑ ก็ระบุว่าโจทก์มาทำงานสายถึง ๓๘ ครั้ง รวม ๔ ชั่วโมง ๕ นาที  และศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ ถือว่าเป็นการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
                   พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
หมายเหตุ        คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีมาทำงานสาย นายจ้างอาจลงโทษโดยการตักเตือนเป็นหนังสือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้  

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

นัดหยุดงานไม่ชอบ ผิดอาญาด้วย // ยกข้อต่อสู้ในคำให้การ แม้ไม่กำหนดประเด็น ก็ต้องวินิจฉัย

ฎีกาที่  ๑๓๕๘๐/๒๕๕๖

                        ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้เป็นผู้แทนเจรจาของสหภาพแรงงาน ล. เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ สหภาพแรงงาน ล. ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาผู้ร้องยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเช่นกัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ นาย ท. พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทำบันทึกและแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบโดยตลอดว่าระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๗ ยังมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นัดหยุดงานหรือปิดงาน ทั้งนัดทั้งสองฝ่ายเจรจาครั้งต่อไปวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ แต่ปรากฏว่าลูกจ้างผู้ร้องนัดหยุดงานในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ทั้งมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้ร้องทราบแล้ววินิจฉัยว่า การนัดหยุดงานของลูกจ้างผู้ร้องเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ การนัดหยุดงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลูกจ้างที่นัดหยุดงานย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ผู้คัดค้านเป็นผู้เข้าร่วมในการนัดหยุดงานอันมิชอบด้วยกฎหมาย หลังจากมีการนัดหยุดงานเป็นต้นมาผู้คัดค้านอ้างว่าตนเป็นผู้แทนเจรจาข้อตกลง จึงไม่จำต้องเข้าทำงานเลยซึ่งไม่ถูกต้อง พฤติกรรมของผู้คัดค้านจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะอนุญาตเลิกจ้าง
                        คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ เห็นว่า แม้การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะบัญญัติแล้วในมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง ดังนั้นแม้ศาลแรงงานจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท แต่ศาลแรงงานย่อมต้องพิจารณาพิพากษาไปถึงประเด็นแห่งคดีความตามคำคู่ความ ผู้คัดค้ายื่นคำคัดค้านว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมเนื่องจากมิได้ระบุถึงความผิดของผู้คัดค้านให้ชัดเจน ทั้งมิได้ระบุความเสียหายหรือการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือการกระทำความผิดอาญาอย่างใด ทำให้ผู้คัดค้านไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านยกข้อต่อสู้เรื่องคำร้องเคลือบคลุมไว้แล้ว แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ คำพิพากษาศาลแรงงานในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเอง ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า สหภาพแรงงาน ล.ยื่นข้อเรียกร้องแก่ผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงาน ล. จนกระทั่งข้อเรียกร้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้คัดค้านกับพวกนัดหยุดงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จึงขอเลิกจ้างผู้คัดค้าน เป็นการบรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาว่าผู้คัดค้านกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่ผู้ร้อง ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ข้ออ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือผู้คัดค้านกับพวกนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำขอบังคับให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน เป็นคำร้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดต้องศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ไม่เป็นคำร้องเคลือบคลุม อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
                 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการสุดท้ายว่ามีเหตุสมควรเลิกจ้างผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า การนัดหยุดงานเป็นการที่ลูกจ้างแต่ละคนที่ร่วมนัดหยุดงานต่างละทิ้งการงานตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง เป็นกรรมการลูกจ้าง และเป็นผู้แทนเจรจาของสหภาพแรงงาน ล.เข้าร่วมในการนัดหยุดงานกับลูกจ้างอื่นของผู้ร้องซึ่งเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้ร้องผู้เป็นนายจ้างทราบล่วงหน้าตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา นอกจากเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘  มาตรา ๗๔ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทและอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย ยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา ๑๓๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ผู้คัดค้านเข้าร่วมในการนัดหยุดงานยังมีผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของผู้ร้องไม่ให้ดำเนินไปได้ตามปกติ ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เป็นกรณีผู้คัดค้านจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายประกอบกับผู้คัดค้านเข้าร่วมการนัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จนถือวันฟ้อง (วันที่ ๘ ตุลาคาม ๒๕๕๑) ก็ยังไม่กลับเข้าทำงาน จึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านต่อไปว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น