คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2556
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา โจทก์ทำร้ายร่างกายนายพรศักดิ์
ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะกำลังปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยชกที่ใบหน้า บริเวณปากและศีรษะ ทั้งหลังเกิดเหตุ นายพรศักดิ์ก็ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ทันที
ซึ่งโจทก์ให้การรับสารภาพทั้งชั้นสอบสวนและชั้นศาล
การกระทำของโจทก์แสดงว่าโจทก์มิได้มีความยำเกรงต่อผู้บังคับบัญชา ทั้งมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุห้ามไว้ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด
7 ข้อ 2.1.22 ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวด 7 ข้อ 4.4 และหมวด 9
ข้อ 5.3 รวมทั้งไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 583 และถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ.2522 มาตรา 49 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างหรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ แต่เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้ให้จำเลยมีอำนาจพักงานลูกจ้างเพื่อทำการสอบสวนความผิด การที่จำเลยพักงานโจทก์เพื่อทำการสอบสวนความผิด
7 วัน โดยจ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ 50
ของค่าจ้างปกติจึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 116
ถือว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างเดือนมีนาคม
2549 ต่อโจทก์อยู่ 766 บาท เมื่อไม่จ่ายภายในวันที่ 25 มีนาคม 2549 ตามกำหนดจ่ายค่าจ้าง
โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9
โดยคิดให้นับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ขอ
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยพักงานโจทก์แล้ว 7 วัน
ด้วยเหตุที่ว่าโจทก์ชกต่อยนายพรศักดิ์ ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยถือว่าเป็นการลงโทษ
เมื่อจำเลยนำเหตุเดียวกันนี้มาเลิกจ้างโจทก์อีกจึงเป็นการลงโทษที่ซ้ำซ้อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
การพักงานที่เป็นโทษทางวินัยนั้นต้องเป็นการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างทั้งคำฟ้องโจทก์ก็บรรยายไว้อย่างแจ้งชัดว่าจำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วัน และหักค่าจ้างโจทก์ไว้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง รวมเป็นเงิน 766
บาทโดยให้เหตุผลว่าเพื่อรอการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของการกระทำความผิด
ดังนั้นการพักงานดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อรอการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและมีการจ่ายค่าจ้างให้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง กรณีจึงหาใช่เป็นการลงโทษทางวินัยแต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามหนังสือเลิกจ้าง
ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าโจทก์ได้ยินคำพูดจากเพื่อนร่วมงานว่านายพรศักดิ์ต้องการปลดนายพลวัต
(โจทก์) ดังนั้นนายพลวัต (โจทก์) จึงไม่พอใจ แต่จำเลยยื่นคำให้การและศาลแรงงานกลางหยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ชกต่อยนายพรศักดิ์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจในสถานที่ทำงาน
จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จึงยังคลาดเคลื่อนและขัดต่อกฎหมายเพราะมิใช่เหตุที่ระบุไว้ตามหนังสือเลิกจ้าง
ต้องห้ามตามระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม เห็นว่า
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าหนังสือเลิกจ้าง ได้ระบุว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา
โจทก์ทำร้ายร่างกายนายพรศักดิ์ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะกำลังปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยชกที่ใบหน้าบริเวณปากและศีรษะ
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่ามิได้ระบุเหตุไว้ในหนังสือเลิกจ้างจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์อีกว่าเมื่อพิจารณาตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว
เหตุเลิกจ้างในคดีนี้ยังไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง เห็นว่า
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวด 7 วินัยพนักงาน ข้อ 2.1.22
กำหนดไว้ว่าพนักงานต้องไม่ทำการทะเลาะวิวาทหรือใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งกันและกันในบริเวณบริษัทฯ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายนายพรศักดิ์ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะกำลังปฏิบัติงานตามหน้าที่ โดยชกที่ใบหน้า บริเวณปากและศีรษะ
ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์แสดงว่าโจทก์มิได้มีความยำเกรงต่อผู้บังคับบัญชา
ทั้งมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุห้ามไว้
ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน