วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ไม่ได้เล่นการพนันในเวลาทำงาน อ้างได้ไหม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19437-19438/2557
                        ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุโจทก์ทั้งสองเล่นการพนันประเภทไฮโลกับพนักงานในบริเวณโรงงานของจำเลยตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 โจทก์ทั้งสองกับเพื่อนพนักงานรวม 7 คน ร่วมกันเล่นการพนักงานไฮโลในบริเวณโรงเก็บเหล็กของจำเลยจริง แล้ววินิจฉัยว่า จากประเภทการพนันและการร่วมเล่นการพนันของพนักงานถึง 6 คนตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ปรากฏว่ามีผู้ร่วมเล่นการพนันดังกล่าวเป็นความผิดต่อกฎหมายที่มีโทษอาญา ทั้งเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมหรืออาจเป็นชนวนให้เกิดการวิวาทบาดหมางในหมู่พนักงานด้วยกัน ทำลายความสามัคคีของพนักงาน อีกทั้งส่งผลให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณในทางการค้าด้วย จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
                        คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง และการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าไม่ปรากฏโจทก์ทั้งสองเล่นการพนันในเวลาทำงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงอันเป็นเหตุสมควรในการเลิกจ้างนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันเล่นการพนันประเภทไฮโลในสถานที่ทำงานของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นการพนันในเวลาทำงานหรือไม่ นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญาแล้วยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรม และอาจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในข้อ 8.1.7.10 และ ข้อ 8.1.7.5 ตามเอกสารหมาย ล.4 เป็นกรณีที่ร้ายแรงจำเลยจึงลงโทษทางวินัยด้วยการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 8.2.5 โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ทั้งเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานภาค 2พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

                        พิพากษายืน