ฎีกาที่ ๑๙๕๐/๒๕๕๖
การที่ผู้คัดค้านร่วมกับ นาย ด. ใช้โทรโข่งประกาศ
โดยผู้คัดค้านเป็นผู้ชักชวนให้พนักงานของผู้ร้องมาฟังนาย ด.ประกาศโจมตีผู้ร้องมีเนื้อความ เช่น
...เป็นผู้บริหารใหญ่โตแต่กระทำเยี่ยงอย่างคล้ายสัตว์... ผู้บริหารระดับนาย จ.ก็ดี นาย ม.
ก็ดี...ให้บริษัทพิจารณาระดับผู้บริหารที่มีมันสมองอยู่ในกะโหลกเพียงพอ
ไม่ใช่มีสมองไว้แต่คิดนักธุรกิจอย่างเดียว
...บริษัทไม่เคยพัฒนามีแต่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน
...มีการฉีกใบลาของพวกเรา
...พฤติกรรมดังกล่าวมันเยี่ยงอย่างคล้ายสัตว์เนรคุณ...การบริหารแบบนี้มันเฮงซวย...
เป็นต้น ตามข้อความถอดเทปเอกสารหมาย ร.๕ แม้จะเป็นการประกาศอยู่บริเวณถนนฝั่งตรงข้ามกับบริษัทผู้ร้องตามภาพถ่ายหมาย ร.๔ ก็ตาม เจตนาก็เพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ กระด้างกระเดื่อง อคติ
และความเกลียดชังผู้บริหารของผู้ร้องขึ้นในหมู่พนักงานที่มาทำงานในตอนเช้ากับประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวซึ่งได้ยินและไม่ทราบความจริง การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ประพฤติตนไม่สุภาพเรียบร้อย ไม่เชื่อฟัง ไม่ให้เกียรติ ก้าวร้าว
และไม่แสดงความนับถือต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูงกว่าตน
ไม่รักษาเกียรติ ชื่อเสียง และทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ของบริษัท
ไม่ว่าในหรือนอกเวลาทำงาน ก่อความไม่สงบขึ้น จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย
และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ.๙.๑.๑ ,๙.๑.๒ ,๙.๑.๑๔ ,๙.๑.๑๗ ,๙.๒.๓ ,๙.๓.๒ และ
๙.๓.๔ ตามเอกสารหมาย ร.๓ ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง
จึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.
๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้นั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้คัดค้านอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ข้อพิจารณา
๑. การกระทำผิดของผู้คัดค้านนั้นได้กระทำผิดนอกบริษัทฯ
แต่ศาลถือเป็นการผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเนื่องจาก
การกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ปลุกปั่นพนักงานที่มาทำงานในตอนเช้ากับประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
๒. ผู้คัดค้านไม่ได้เป็นคนพูดปลุกปั่น เป็นเพียงคนเชิญชวนพนักงานให้มาฟังผู้ปราศรัยโจมตีบริษัทฯ
ก็ถือเป็นความผิดด้วย