วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ดอกเบี้ยค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เริ่มคิดเมื่อใด อัตราใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3129/2558
                  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชย ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนั้น เมื่อค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นค่าจ้างตามนิยามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับวันผิดนัดอันเป็นวันเริ่มคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ค่าชดเชยคิดได้นับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายภายในสามวันนับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคท้าย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านายจ้างต้องจ่ายนับแต่วันที่ทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวงล่วงหน้าในวันใด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง